โรงละครชาติแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร
ถ้าลองศึกษากันให้ดีจะพบว่า การบริหารชาติ บ้านเมืองของผู้คนยุคก่อนๆนั้น มีความลึกซึ้งยิ่งนัก มีเรื่องเล่าพอฟังเพลินๆ เกี่ยวกับโรงละครแห่งชาติของกรุงเทพมหานคร
ราวปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ประเทศสยามถูกภัยทางการเมืองคุกคาม โดยระบบการล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจ หลวงวิจิตวาทการขณะนั้นได้ย้ายจากกระทรวงการต่างประเทศรับตำแหน่งอธิการบดีกรมศิลปกรเป็นคนแรก เห็นว่านโยบายประการหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์คับขันได้ คือ “ ชาตินิยม” เพราะการปลุกใจให้คนไทยรักชาติ จะสามารถสร้างความรัก สามัคคี และเสียสละ ให้เกิดขึ้นได้ในหมู่ชนชาติ
ท่านได้เล็งเห็นว่า สื่อที่จะเข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุด ก็คือละครเพลง เมื่อได้ก่อตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางค์ขึ้น ท่านก็ได้ริเริ่มฝึกให้นักเรียนแสดงละครและร้องเพลงปลุกใจรักชาติ แต่เมื่อพร้อมที่จะแสดงแล้ว ก็ปรากฏว่าไม่มีโรงละครที่จะแดง หลวงวิจิตรฯ จึงได้ของบประมาณสำหรับสร้างโรงละคร ซึ่งท่านเขียนเล่าไว้ว่า นอกจากจะไม่ได้แล้ว ยังถูกเราะเย้ยหยันในที่ประชุมอธิการงบประมาณ ถึงกับระบายความขมขื่นไว้ว่า ท่านอยู่ในสภาพที่ยิ่งกว่าขอทาน เพราะขอทานนั้น เมื่อขอแล้วไม่ได้ ก็มิได้ถูกเย้ยหยันเหมือนท่าน ท่านจึงมุมานะหาทางทำเอง โยตั้งเสาไม้ไผ่ขึงเต็นท์เป็นหลังคา ขอยืมเก้าอี้จากกระทรวงวัง และเริ่มเปิดการแสดงละครปลุกใจรักชาติเรื่องแรก คือ “เลือดสุพรรณ” เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ ได้รับการตอบรับจากปวงชนอย่างหนาแน่น
ครั้งหนึ่ง ท่านเจ้าพระยาศรีธรรมมาธิเบศร์ ซึ่งว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชมละครและรับว่าจะจัดหางบประมาณก่อสร้างโรงละครให้หลวงวิจิตรฯ เขียนไว้ว่า ท่านดีใจนอนไม่หลับ เพราะความฝันของท่านที่จะให้บ้านเมืองเรามีโรงละครแห่งชาติ เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันงดงาม ดังเช่น นานาอารยประเทศกำลังจะเป็นความจริง แต่เมื่อท่านไปพบท่านรัฐมนตรีคลัง ก็ปรากฏว่าหางบประมารได้เพียง ๖,๕๐๐ บาท ซึ่งก็ทำได้เพียงแต่ให้โรงละครของท่านมีเสาไม้และมุงหลังคาสันกะสี แล้วเงินก็หมด
แต่อุปสรรคไม่เคยทำให้ท่านย่อท้อ เพราะละครเรื่อง “เลือดสุพรรณ”ยังคงได้รับความนิยมอย่างมากมาย ผู้คนถึงกับนำปิ่นโตมานั่งรับประทานอาหารกันที่สนาม เพื่อคอยเบียดเสียกันซื่อบัตรเข้าชมละคร ในการแสดงคราวหนึ่ง เมื่อที่นั่งเต็มหมด ผู้ชมถึงกับพังประตูเข้าไปยืนดูการแสดง
“เลือดสุพรรณ”ทำให้โรงละครแห่งชาติแห่งแรกเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เรียกชื่อในสมัยนั้นว่า “หอประชุมศิลปกร” หลังจากนั้น ชาวกรุงเทพฯก็ได้ชมละครอีก ๙ เรื่อง เช่น พระเจ้ากรุงธนฯ ราชธน เจ้าหญิงแสนหวี น่านเจ้า และมหาเทวี เป็นต้น ล้วนเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ที่ต้องการเตือนให้ชาวกรุงรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระกษัตราธิราชเจ้า และนักรบผู้กล้าในอดีตที่ได้เสียสละชีวิตเพื่อรักแผ่นดินให้เป็น “ไทย” หลวงวิจิตรฯ เคยคิดว่าโรงละครแห่งนี้คงจะรับใช้ราชการได้ราว ๕ ปี แต่ปรากฏว่าได้มีอายุยืนยาวมากกว่า ๒๐ ปี จนเกิดเพลิงไหม้
อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ท่านได้ของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อก่อสร้างโรงละครแห่งชาติขึ้นใหม่ เป็นศรีสง่าแก่กรุงเทพมหานครอยุ่ในปัจจุบัน ทำหน้าที่เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของบ้านเมืองเราต่อไปโดยมิให้สูญหายไปกับกาลเวลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น